ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าราชบุตร
(วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่)
เจ้าราชบุตร จังหวัดเชียงใหม่
ดำรงพระยศ30 มีนาคม พ.ศ. 2466 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2515
ก่อนหน้าเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่)
ถัดไปยกเลิกบรรดาศักดิ์
ประสูติ7 พฤษภาคม พ.ศ. 2429
นครเชียงใหม่ ประเทศสยาม
พิราลัย25 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 (86 ปี)
จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
ชายาเจ้าจันทร ณ เชียงใหม่
เจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่
หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่
ราชบุตรเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี
เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน
เจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล
ราชสกุลณ เชียงใหม่
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระบิดาเจ้าแก้วนวรัฐ
พระมารดาเจ้าจามรีวงศ์
ลายพระอภิไธย

พลตรี เจ้าราชบุตร หรือนามเดิมว่า เจ้าวงษ์ตะวัน (บางแห่งสะกดว่า วงษ์ตวัน หรือ วงศ์ตวัน)เป็นเจ้าราชบุตรองค์สุดท้ายแห่งจังหวัดเชียงใหม่[1] อดีตผู้บังคับการพิเศษกรมผสมที่ 7 ราชองครักษ์พิเศษ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเป็นราชโอรสในพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 กับแม่เจ้าจามรีวงศ์

ประวัติ

[แก้]

เจ้าวงษ์ตะวัน ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 ตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 เป็นเจ้าราชโอรสในเจ้าแก้วนวรัฐกับแม่เจ้าจามรีวงศ์ เป็นอนุชาของเจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) และเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่

เมื่อเยาว์วัย เจ้าราชบุตรวงศ์ตวันฯ มีชื่อเรียกว่า "เจ้าหมู" เมื่อปี พ.ศ. 2440 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 จึงเดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และในปี พ.ศ. 2445 ได้กลับมาบรรพชาสามเณร ที่วัดหอธรรม จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร)

เจ้าวงศ์ตวัน เคยติดตามเจ้าแก้วนวรัฐ เพื่อกระทำพิธีทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้เงินและต้นไม้ทอง ตามประเพณีอันเป็นราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งเป็นเจ้าอา ได้นำเจ้าราชบุตรเฝ้าถวายตัวตามในคราวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า "วงศ์ตวัน" ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ พ.ศ. 2448 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าราชบุตร เป็นหุ้มแพรมหาดเล็ก และพระราชทานเสมาทองคำลงยา มีพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. พร้อมด้วยเข็มข้าหลวงเดิม

เจ้าราชบุตร มีความสามารถเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิด แต่ที่มีความถนัดเป็นพิเศษคือ ขิม และชอบกีฬากลางแจ้งหลายชนิด เช่น เทนนิส ฟุตบอล และมวย[2]

การทำงาน

[แก้]

เมื่อเจ้าราชบุตร กลับภูมิลำเนาที่เชียงใหม่ ได้เข้ารับราชการฝ่ายมหาดไทย ในตำแหน่งเสมียนกองมหาดไทยมณฑลพายัพ เมื่อปี พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานเงินเดือน 25 บาท ในปีต่อมาได้เลือนตำแหน่งเป็นเลขานุการเค้าสนามหลวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ได้รับเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองเสนามหาดไทย และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าราชสัมพันธวงศ์" เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2456[3] ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น "รองอำมาตย์เอก" เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2456[4] จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2457 ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยส่งสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ขึ้นไปพระราชทานที่เชียงใหม่[5]

เจ้าราชสัมพันธวงศ์ได้รับพระราชทานยศเป็น "นายหมวดเอกเสือป่า" ในปี พ.ศ. 2468 ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2466 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าราชบุตร จังหวัดเชียงใหม่"[1] และในปี พ.ศ. 2473 ได้เลื่อนตำแหน่งทางราชการเป็นเสนามหาดไทยเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตรีพิเศษในกรมทหารราบ[6] จนกระทั่งได้รับพระราชทานยศชั้นสูงสุดเป็นพลตรี และเป็นราชองครักษ์พิเศษ

เจ้าราชบุตร ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2489[7]

ครอบครัว

[แก้]

เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) สมรสกับเจ้าจันทร (สกุลเดิม ณ เชียงใหม่) มีพระธิดา 1 องค์ ต่อมาสมรสกับเจ้าภัทรา (สกุลเดิม ณ ลำพูน) มีพระธิดา 2 องค์ และต่อมาได้สมรสกับหม่อมศรีนวล (สกุลเดิม นันทขว้าง)

เจ้าจันทร ณ เชียงใหม่

เจ้าจันทร ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าสิงห์คำ และเจ้ารสสุคนธ์ ณ เชียงใหม่[8] เป็นพระนัดดาของเจ้าอุบลวรรณา ณ เชียงใหม่[9] มีธิดาหนึ่งองค์ คือ เจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี (27 มีนาคม พ.ศ. 2450 — 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) - สมรสกับปฐม คชเสนี อดีตอธิบดีกรมทางหลวง มีบุตรธิดาสองคน ได้แก่

  1. ปวิตร คชเสนี - สมรสกับลักษณา คชเสนี (มีธิดา 3 คน)
  2. คุณหญิงวิจันทรา บุนนาค - สมรสกับอภิไตร บุนนาค (มีบุตร 1 ธิดา 1)
เจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่

เจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่ (สกุลเดิม ณ ลำพูน) ธิดาเจ้าน้อยจิตตะ และเจ้าหล้า ณ ลำพูน ซึ่งเจ้ามารดาเป็นพระธิดาของเจ้าอินทยงยศโชติ[10] มีธิดาสององค์คือ

  1. คุณหญิง เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน (พ.ศ. 2469 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534) - สมรสกับเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน ราชโอรสในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 (มีโอรสธิดา 4)
    1. คุณหญิง เจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน - ไม่สมรส
    2. เจ้าพัฒนพงศ์ ณ ลำพูน
    3. เจ้าวงศ์จักร ณ ลำพูน
    4. เจ้าศักดิ์ขจร ณ ลำพูน
  2. คุณหญิง ดร.เจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล (24 มกราคม พ.ศ. 2471 - 1 มกราคม พ.ศ. 2558) - สมรสกับสุชาต สุจริตกุล อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นบุตรในมหาเสวกโท พระยาสุจริตธำรงค์ (อู๊ด สุจริตกุล) อธิบดีกรมวัง มีบุตรธิดา 3 คน
    1. รองศาสตราจารย์ ตวัน สุจริตกุล - สมรสกับหม่อมราชวงศ์นุช ศุขสวัสดิ์ ธิดาในหม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ (พระโอรสในพลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) กับหม่อมมาลินี (สกุลเดิม สีบุญเรือง)
    2. พันธุ์ระวี สุจริตกุล
    3. รพี สุจริตกุล - ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย (มหาชน) , ประธานกรรมการบริหารบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด
หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่

หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่ ท.จ.[11] (สกุลเดิม นันทขว้าง) แต่ไม่มีบุตรธิดา

การสืบราชสกุล ณ เชียงใหม่

[แก้]

พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) มีฐานะเป็นผู้สืบราชสกุลเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า สืบตระกูลจากพระบิดาคือ พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2471

การถวายความจงรักภักดี

[แก้]

เจ้าราชบุตร ได้รับการศึกษาที่กรุงเทพมหานคร และได้รับพระราชทานการศึกษาอบรมจากราชสำนัก ตั้งแต่รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เจ้าราชบุตร ก็ยังแสดงออกถึงความจงรักภักดี และมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9[2]

  • เจ้าราชบุตร ได้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมกระบวนม้าและช้างไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในการเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ โดยไปรับเสด็จตั้งแต่เมืองแพร่ ถึงเมืองเชียงใหม่
  • เจ้าราชบุตร เป็นแม่กองสร้างโรงช้าง ในปี พ.ศ. 2469 เพื่อประกอบพิธีสมโภชช้าง "พระเศวตคชเดชน์ดิลก" และเป็นผู้ทรงช้างองค์ที่ 7 ในจำนวน 13 องค์ เพื่อนำเสด็จโดยช้างพระที่นั่ง
พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่
  • เจ้าราชบุตร ได้เข้าร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระอนุชา ในคราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก
  • เจ้าราชบุตร ได้เข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเมืองประเทศราชในอดีต [12]
  • เจ้าราชบุตร ได้เฝ้าถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่สนามบินเชียงใหม่และที่อื่น ๆ และในปี พ.ศ. 2501 ได้เฝ้ารับเสด็จในพระราชวโรกาสเสด็จเยี่ยมราษฎร และเป็นประธานจัดบายศรีสู่ขวัญ ในพิธีทูลพระขวัญถวายที่หน้าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในคราวนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จเสวยพระกระยาหารที่คุ้มวงศ์ตวันด้วย[2] นอกจากนั้นได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

การได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

[แก้]

ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่คุ้มวงศ์ตวัน ของเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) และฉายพระรูปร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือและเชื้อสายเป็นการส่วนพระองค์[13] ในครานั้นเองทรงรับสั่งว่า “ถึงแม้บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรให้สามัคคีกัน ให้รวมกลุ่มกันรักษาความดีไว้ ในฐานะทายาทผู้ครองนคร”

เมื่อครั้งที่เจ้าราชบุตร ได้เดินทางไปผ่าตัดต้อกระจกที่กรุงเทพมหานคร ได้รับพระราชทานกระเช้าดอกไม้ และคราวที่ไปผ่าตัดช่องท้อง ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเอาพระราชหฤทัยใส่ และโปรดเกล้าฯ ให้นายแพทย์เอาใจใส่เป็นพิเศษ รวมทั้งให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร นำกระเช้าดอกไม้พระราชทานไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล

ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2514 ในพระราชวโรกาสเสด็จแปรพระราชฐาน มาประทับที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นำแจกันดอกไม้พระราชทานแก่เจ้าราชบุตร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณครั้งสุดท้ายในขณะที่เจ้าราชบุตรยังมีชีวิตอยู่

การส่งเสริมความเข้าใจและสร้างเกียรติคุณของประเทศ

[แก้]

เจ้าราชบุตรได้มีบทบาทสำคัญในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ โดยเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ส่วนตัว[2] เช่น

กิจกรรมสาธารณประโยชน์

[แก้]

เจ้าราชบุตร ได้สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การบริจาตสมทบมูลนิธิเพื่อการศึกษา การบริจาคทรัพย์เพื่อบำรุงศาสนา การสนับสนุนการแพทย์ สมทบทุนกิจกรรมกาชาด ฯลฯ โดยมีอนุสรณ์ที่แสดงถึงกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของเจ้าราชบุตร ได้แก่ กุฏิวัดเจดีย์หลวงที่สร้างอุทิศถวายเจ้าแก้วนวรัฐ และแม่เจ้าจามรีวงศ์ รวมถึงอาคารเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ซึ่งเป็นตึกโคโบลท์ ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ถึงแก่พิราลัยด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 เวลา 12.10 น. ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ สิริรวมอายุ 86 ปี หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพียง 4 วัน โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานโกศไม้สิบสองเป็นเกียรติยศ ในการออกพระเมรุ อันเป็นโกศพระราชทานสำหรับเจ้าประเทศราช[14]

งานพิธีพระราชทานเพลิงศพ

[แก้]

ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทล้นเกล้าฯ ทั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาไปตั้งที่ศพ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชทานเลื่อนโกศประกอบเกียรติยศศพจากโกศแปดเหลี่ยมเป็นโกศไม้สิบสองประกอบศพ พร้อมทั้งบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในการออกเมรุ ณ คุ้มวงศ์ตวัน จังหวัดเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญโกศศพขึ้นประดิษฐานบนราชรถ เคลื่อนกระบวนอิสริยยศ เชิญศพจากคุ้มวงศ์ตวันไปสู่วัดสวนดอก ตั้งกระบวนอิสริยยศเชิญโกศศพเวียนเมรุ แล้วเชิญโกศศพขึ้นตั้งบนจิตกาธาน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ที่เมรุวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2516 และได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาวัดสวนดอก ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์บังสุกุล แล้วเสด็จขึ้นเมรุพระราชทานเพลิง[2]

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

[แก้]

ยศ

[แก้]

ยศเสือป่า

[แก้]
  • 16 ธันวาคม 2458 – นายหมู่โท[15]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบหษา, พระราชทานบรรดาศักดิ์, เล่ม 40, ตอน ง, 30 มีนาคม 2466, หน้า 4,619
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61. [ม.ป.ท.] : โรงพิม์ชวนพิมพ์, 2516. 260 หน้า. [พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ณ เมรุวัดสวนดอก จังหวัด เชียงใหม่ วันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2516]
  3. ตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์
  4. พระราชทานยศ
  5. รายวันส่งสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ไปพระราชทาน
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานยศ, เล่ม 49, ตอน ง, 28 สิงหาคม 2475, หน้า 1781
  7. "สมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 2" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-08-21.
  8. รายพระนามเหล่าพระประยูรญาติ และเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ. ชั้น ๕ (ชั้นหลาน) สาย ๑ - สายพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ เก็บถาวร 2007-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 16 มีนาคม 2556
  9. "แม่เจ้าจามรี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2013-03-17.
  10. ล้านนาคอนเนอร์. ตามรอย "เจ้าแม่หล้า" ไปบ้านไร่ดง[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม 2556
  11. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2009-10-03.
  13. หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ณ เมรุวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
  14. ถึงแก่พิราลัย[ลิงก์เสีย]
  15. พระราชทานยศเสือป่า
  16. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ชั้นสายสะพาย ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๐) เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 84 ตอนที่ 128ง ฉบับพิเศษ วันที่ 30 ธันวาคม 2510
  17. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 3 วันที่ 4 มกราคม 2506
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 79, ตอน 46, 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2505, หน้า 1249
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๕๕, ตอน ๐ ง, ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๓๖๐๗

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ถัดไป
เจ้าแก้วนวรัฐ
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

ผู้สืบสกุลเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
(พ.ศ. 2482 — พ.ศ. 2515)
เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่